วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ข้อมูลเพิ่มเติม


จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้

พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน 3 ด้าน ดังนี้

ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และประเมินผล
ด้านเจตพิสัย (Affective Domain ) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว การกระทำ การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ

การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้

การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ (Objectives) เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนมีหรือบรรลุซึ่งมีทั้งด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ จุดประสงค์การเรียนรู้จะได้มาจากระดับของหลักสูตร คือตั้งแต่จุดหมายของหลักสูตร จุดประสงค์ของสาขาวิชา มาตรฐานวิชาชีพสาขาวิชาและสาขางานจนถึงระดับรายวิชา คือ จุดประสงค์รายวิชา มาตรฐานรายวิชาและคำอธิบายรายวิชา ที่ต้องการจัดการเรียนรู้เพื่อมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามจุดประสงค์ระดับหลักสูตร ทั้งนี้ การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นั้นจะต้องเขียนให้ครอบคลุมพฤติกรรมทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

การจำแนกจุดประสงค์การเรียนรู้
ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นความสามารถทางสมอง หรือความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาหลักการหรือทฤษฎีพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านนี้สามารถวัดได้จากการให้ผู้เรียนแจกแจงความรู้ เขียนรายการสิ่งที่รู้ยกตัวอย่าง ประยุกต์กฎต่าง ๆ ที่เรียนไป หรือวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นต้น พฤติกรรมตามระดับการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยแบ่งไว้ 6 ขั้น ซึ่งการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป ต้องอาศัยระดับการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเสมอ


ระดับพฤติกรรม
ตัวอย่างคำกริยาที่ใช้
1. ความรู้ความจำ ความสามารถในการจดจำสิ่งที่เรียนมาแล้ว อาจเป็นข้อมูลง่าย ๆ จนถึงทฤษฎี
บอกคุณสมบัติ จับคู่ เขียนลำดับ อธิบาย บรรยาย ขีดเส้นใต้ จำแนก ระบุ
2. ความเข้าใจ ความสามารถในการจับใจความการแปลความหมาย การสรุป หรือขยายความ
แปลความหมาย อธิบาย ขยายความ สรุปความยกตัวอย่าง บอกความแตกต่าง เรียบเรียง เปลี่ยน
3. การนำไปใช้ ความสามารถในการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่
แก้ปัญหา สาธิต ทำนายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เปลี่ยนแปลง คำนวณ ปรับปรุง ผลิต ซ่อม
4. การวิเคราะห์ ความสามารถในการแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อยเหล่านั้นได้
เขียนโครงร่าง แยกแยะ จัดประเภท จำแนกให้เห็นความแตกต่าง บอกเหตุผล ทดลอง
5. การสังเคราะห์ ความสามารถในการรวบรวมส่วนย่อยๆ เพื่อสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างใหม่
รวบรวม ออกแบบ จัดระเบียบ สร้าง ประดิษฐ์ วางหลักการ
6. การประเมิน ความสามารถในการวินิจฉัยคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
วัดผล เปรียบเทียบ ตีค่า ลงความคิดเห็น วิจารณ์

ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)
คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นหนักในด้านความสนใจ เจตคติ ค่านิยม อารมณ์และความประทับใจซึ่งวัดได้โดยการสังเกต แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง การระบุพฤติกรรมที่คาดหวังให้ผู้เรียนแสดงออกนั้น ต้องอาศัยการรวบรวมพฤติกรรมที่ชี้ถึงความรู้สึก เจตคติและค่านิยมของตนเองและผู้อื่น แล้วนำมาใช้ในการกำหนดเป็นพฤติกรรมที่คาดหวัง พฤติกรรมตามระดับการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยแบ่งไว้ 5 ขั้น

ระดับพฤติกรรม
ตัวอย่างคำกริยาที่ใช้
1. การรับรู้ การยอมรับความคิด กระบวนการ หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ
เลือก ชี้ ติดตาม ยอมรับ
2. การตอบสนอง ความเต็มใจที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่รับรู้
อภิปราย เลือก เขียนชื่อกำกับ
3. การเห็นคุณค่า ความรู้สึกนิยมพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดการปฏิบัติตามสิ่งที่นิยม
อภิปราย ริเริ่ม เลือก แสวงหา ประพฤติตาม นำมาใช้
4. การจัดระบบค่านิยม การนำเอาคุณค่าต่าง ๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้มาผสมผสานและจัดระบบเข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างระบบคุณค่าขึ้นภายในตนเอง
จำแนก จัดลำดับ จัดระเบียบ ผสมผสาน
5. การกำหนดคุณลักษณะ การนำค่านิยมที่จัดระบบแล้วมาปฏิบัติจนเป็นนิสัยเฉพาะตน
สนับสนุน ต่อต้าน ใช้เหตุผล แสดงออก ชักชวน

ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
คือจุดประสงค์การเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางกาย เน้นหนักด้านการวางท่าทางให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับการปฏิบัติงานแต่ละชนิด สามารถระบุพฤติกรรมที่แสดงออกได้จากการตีความทักษะหรือการปฏิบัติออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งสังเกตได้จากความถูกต้องแม่นยำ ความว่องไว คล่องแคล่ว และสม่ำเสมอ พฤติกรรมตามระดับการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยแบ่งไว้ 5 ขั้น

ระดับพฤติกรรม
ตัวอย่างคำกริยาที่ใช้
1. การรับรู้ รับรู้ในสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ โดยผ่านประสาทสัมผัส
สังเกต รู้สึก สัมผัส ตรวจพบ
2. การเตรียมพร้อม การเตรียมตัวให้พร้อมทางสมอง ทางกายและจิตใจ
แสดงท่าทาง ตั้งท่าเข้าประจำที่
ระดับพฤติกรรม
ตัวอย่างคำกริยาที่ใช้
3. การปฏิบัติงานโดยอาศัยผู้แนะ/เลียนแบบ การทำตามตัวอย่าง การลองผิดลองถูก
เลียนแบบ ทดลอง ฝึกหัด
4. การปฏิบัติงานได้เอง / คล่อง ปฏิบัติได้เองอย่างถูกต้อง เรียบร้อย มีประสิทธิภาพ
สาธิต ผลิต แก้ไข ทำได้สำเร็จด้วยตนเอง ทำงานได้เร็วขึ้น
5. การปฏิบัติงานด้วยความชำนาญ / ทำงานใหม่ได้ ปฏิบัติงานด้วยความคล่องแคล่วเหมือนอัตโนมัติสามารถทำงานใหม่ได้
ทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง จัดระบบ ควบคุมการทำงานแนะแนวทาง

ระดับของจุดประสงค์การเรียนรู้
ในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ
  1. จุดประสงค์ทั่วไป หรือจุดประสงค์ปลายทาง
  2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหรือจุดประสงค์นำทาง หรือจุดประสงค์เฉพาะ

จุดประสงค์ทั่วไป
จุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทาง คือ จุดประสงค์ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในการเรียนรู้แต่ละเรื่องหรือแต่ละหน่วยการเรียนรู้
ลักษณะของจุดประสงค์ทั่วไป มีดังนี้
  1. ตอบสนองพฤติกรรมสำคัญของจุดหมายหลักสูตร จุดประสงค์สาขาวิชา มาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชา/สาขางาน จุดประสงค์รายวิชาและมาตรฐานรายวิชา
  2. สะท้อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เป็นผลจากการเรียนรู้ โดยครอบคลุมทั้งด้านความรู้ความคิดความสามารถในการปฏิบัติ เจตคติและกิจนิสัยที่พึงประสงค์
  3. การเขียนจุดประสงค์ทั่วไป จะใช้คำกิริยากว้าง ๆ โดยเขียนเป็นข้อ ๆ แต่น้อยข้อครอบคลุมสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามคำอธิบายรายวิชา เช่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนัก เห็นคุค่า สามารถ เป็นต้น

ประโยคของจุดประสงค์ทั่วไป
ประธาน + กริยารวม ๆ + เรื่องที่จัดการเรียนรู้ (หัวข้อใหญ่ที่ 1..2..3) + เกณฑ์กว้าง ๆ

เช่น 1 ผู้เรียน + ประดิษฐ์ + เครื่องแขวนจากเปลือกหอย + ได้
2 ผู้เรียน + หา + ปริมาตรดินถม + ได้
3 ผู้เรียน + เขียน + สมการการสมดุล + ได้
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม หรือจุดประสงค์นำทาง หรือจุดประสงค์เฉพาะ คือ จุดประสงค์ที่วิเคราะห์ออกมาจากจุดประสงค์ทั่วไป โดยกำหนดพฤติกรรมสำคัญที่คาดหวังให้เกิดกับผู้เรียนในการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้
ลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีดังนี้
  1. สอดคล้องกับจุดประสงค์ทั่วไปโดยแตกย่อยออกมาจากจุดประสงค์ทั่วไป และแสดงถึงรายการพฤติกรรมคาดหวังที่จะทำให้การเรียนรู้บรรลุตามที่กำหนดไว้ในจุดประสงค์ทั่วไป
  2. แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนหลังจบการเรียนรู้ในเรื่องหรือหน่วยการเรียนรู้นั้น ๆ
  3. การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ผู้สอนควรพิจารณาโดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
    1. ควรเขียนให้ครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย แต่การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมด้านจิตพิสัยนั้นอาจทำได้ยากเพราะผู้สอนไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง ในกรณีนี้ถ้าไม่สามารถเขียนเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม อาจเขียนเป็นจุดประสงค์เฉพาะ เช่น ใช้คำว่า บอกคุณค่า บอกประโยชน์เพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้เรียนว่ามีความตระหนักหรือเห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ
    2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมต้องมีลักษณะชัดเจน รัดกุม ไม่คลุมเครือ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ตรงกัน และสามารถสังเกตได้หรือวัดได้
    3. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สมบูรณ์จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ พฤติกรรมที่คาดหวัง สถานการณ์/เงื่อนไข และเกณฑ์ อธิบายได้ดังนี้ พฤติกรรมที่คาดหวัง โดยแต่ละข้อจะต้องระบุพฤติกรรมที่คาดหวังเพียง 1 พฤติกรรมและควรพิจารณาเลือกคำกริยาที่แสดงพฤติกรรมที่คาดหวังให้ถูกต้องตามระดับขั้นของพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน สังเกตได้ เช่น อ่าน เล่าเรื่อง อธิบาย บอก ชี้ หยิบ เลือก ตอบ สรุป ทำ เขียน ฟัง ปฏิบัติ จับใจความ ฯลฯ สถานการณ์/เงื่อนไข ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ได้แก่ โอกาสหรือสภาพ ทำให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมออกมา เช่น เมื่อกำหนดข้อความให้ เมื่อฟังโฆษณาแล้ว หลังจากฟังเพื่อนเล่านิทานแล้ว อ่านในใจจากบทเรียนแล้ว และเกณฑ์หรือระดับความสามารถที่ผู้เรียนแสดงออกมาขั้นต่ำสุดที่จะยอมรับได้ว่าผู้เรียนเกิดความรู้จริง นั่นคือ ผ่านหรือไม่ผ่านจุดประสงค์ เช่น ทำไดทุกข้อ อ่านได้ถูกต้อง เขียนคำให้ได้ 8 ใน 10 คำ บรรยายภาพได้
บางกรณีอาจจะเว้นการเขียนสถานการณ์/เงื่อนไขไว้ในฐานะที่เข้าใจกัน หาก
พิจารณาว่าจุดประสงค์นั้นสมบูรณ์พอ หรือไม่ระบุเกณฑ์ของพฤติกรรมโดยนำไปกำหนดไว้ในเกณฑ์การประเมินแทน นอกจากนี้ควรละเว้นการเขียนส่วนขยายที่ไม่จำเป็นด้วย ตัวอย่างเช่น
      • หลังจากศึกษาเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้ว ผู้เรียนสามารถอธิบายหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเปิดตำรา
      • สามารถติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ตามคู่มือได้อย่างคล่องแคล่ว ในเวลา 5 นาที
      • เพื่อให้ผู้เรียนสามารถยกตัวอย่างเครื่องมือการเกษตรได้อย่างน้อย 10 ชนิด

    1. การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจะเขียนเป็นข้อ ๆ เรียงตามลำดับพฤติกรรมที่เกิดก่อนจำนวนข้อจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์รายวิชา มาตรฐานรายวิชาและคำอธิบายรายวิชา รวมทั้งเวลาที่กำหนดในการจัดการเรียนรู้แต่ละเรื่อง / หน่วยการเรียนรู้

ประโยคของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

พฤติกรรม (กริยา) + เรื่องย่อยที่จะจัดการเรียนรู้ (หัวข้อรองที่ 1..2..3) + เกณฑ์

เช่น 1.1 เลือก + เปลือกหอยที่จะนำมา+ประดิษฐ์เครื่องแขวน + ได้อย่างเหมาะสม
1.2 ออกแบบ + เครื่องแขวน + ได้ภายในเวลาที่กำหนด
1.3 บอก + ขั้นตอนการประดิษฐ์เครื่องแขวนด้วยเปลือกหอย + ได้ถูกต้อง
1.4 อภิปรายถึง + ประโยชน์ของเปลือกหอย + ได้อย่างน้อย 3 ประการ
2.1 คำนวณ + ปริมาตรดินถม + ได้ถูกต้อง
2.2 .........................
2.3 ........................
3.1 บอกขั้นตอน + การเขียนสมการการสมดุล + ได้ถูกต้อง
3.2 .........................
3.3 ........................


ตัวอย่างการเขียนจุดประสงค์ทั่วไปและจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงพฤติกรรม

จุดประสงค์ทั่วไป
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
ด้านพุทธิพิสัย
1. เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับฟันและการรักษาความสะอาดของฟัน

    1. บอกความหมายของคำว่า “ฟัน” ได้
    2. ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่ดูแลรักษาความสะอาดของฟันได้
    3. อธิบายวิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธีได้
ด้านทักษะพิสัย
2. เพื่อให้สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี

    1. สาธิตการแปรงฟันที่ถูกวิธีกับหุ่นจำลองได้
    2. แปรงฟันของตนเองอย่างถูกต้องได้
ด้านจิตพิสัย
3. เพื่อให้ตระหนักในการความสำคัญของการรักษาความสะอาดของฟัน

3.1 แปรงฟันทุกครั้งหลังจากรับประทาน
อาหาร
    1. บอกคุณค่าความสำคัญของการแปรงฟันที่ถูกวิธีได้

ตัวอย่างจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

ที่
สถานการณ์/เงื่อนไข
พฤติกรรมที่คาดหวัง
เกณฑ์
1
ฟังคำอธิบายการเล่นต่อคำ
สามารถเล่นต่อคำ
ได้ถูกต้อง
2
เมื่อกำหนดข้อความให้
สามารถอ่านและเขียนให้ถูกวรรคตอน
ได้ถูกต้อง
3
เมื่ออ่านบทความเกี่ยวกับการเกษตรแล้ว
สามารถเขียนคำขวัญ
ได้อย่างน้อย 1 คำขวัญ
4
หลังจากศึกษาคำใหม่แล้ว
สามารถเขียนตามคำบอก
ได้อย่างน้อย 8 ใน 10 คำ
5
สาธิตให้ดูแล้ว
สามารถปฏิบัติได้
ได้ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

พนิต เข็มทอง.2541 วัตถุประสงค์ทางการศึกษา : การเขียนและการจำแนก” ในเอกสาร
ประกอบการฝึกอบรมหลักสูตรกลยุทธ์การฝึกอบรมแนวใหม่ แนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเพทฯ : สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข.2548 ทักษะ 5 C เพื่อการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้และ
จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วัฒนาพร ระงับทุกข์.2542.แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.กรุงเทพฯ : บริษัท แอล ที เพรส จำกัด.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา ธงพานิช ผู้จัดทำ นางสาวขน...